
เชิญชวนคนสุพรรณ
ร่วมส่งภาพถ่ายเพื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการส่งใบสมัครเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีขององค์การยูเนสโก
" จะส่งกี่รูปก็ได้ " โดยมีเงื่อนไขดังนี้
-ภาพถ่ายต้องสื่อถึงอัตลักษณ์ดนตรี
สามารถนำเสนอถึงดนตรีประเภทใดก็ได้ของสุพรรณบุรี
หรือ จะเป็นรูปศิลปิน,สถานที่, เทศกาลดนตรี,
ดนตรีในชุมชน, สถานศึกษาของจังหวัดสุพรรณบุรี
หรือภาพถ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับดนตรีในสุพรรณ
-อธิบายเนื้อหา
ความเป็นมาและความหมายของภาพถ่ายสั้นๆ
และระบุวันเดือนปีที่ถ่ายภาพ (ถ้ามี)
-ภาพจะต้องเป็นภาพของคุณเองเท่านั้น ห้าม copy
หรือนำมาจากอินเทอร์เน็ต หรือนำมาจากที่อื่น
- ทีมงานจะคัดเลือกภาพที่ดีที่สุด เพียงแค่ 3 ภาพ
ภาพที่ได้รับคัดเลือก
จะต้องเซ็นยินยอมมอบลิขสิทธิ์โดยไม่หวังผลกำไร
และเพื่อใช้ในการเผยแพร่ของยูเนสโกเท่านั้น
-ทุกภาพถ่ายที่ส่งมา
ทีมงานขอสงวนสิทธิ์นำไปใช้ประโยชน์ในการเผยแพร่เมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีของจังหวัดสุพรรณบุรีต่อไป
-สามารถส่งรูปภาพมาได้ที่
suphanburiuccn@gmail.com
พร้อมระบุชื่อ-นามสกุล ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
-ส่งได้จนถึงวันที่ 27
เมษายน 2564
ทีมงานจะคัดเลือกภาพถ่ายเพื่อส่งยูเนสโกไทย
ภายในวันที่ 30 เมษายน 2564

Suphanburi Music Craft And Folk Arts Festival #1
วันที่ 1 - 2 เมษายน 2564
ณ
บริเวณด้านข้างโรงละครแห่งชาติ สุพรรณบุรี
ภาพกิจกรรมในงาน

สุพรรณบุรี เมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี
Suphanburi creative city of music
จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นจังหวัดที่มีรากฐานวัฒนธรรมทางด้านดนตรีที่มีความเข้มแข็ง
และผสมกลมกลืนกับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน
ทั้งศิลปะ ดนตรีพื้นบ้าน
ภาษาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์
รวมทั้งยังเป็นจังหวัดที่ผลิตบุคลากรทางด้านดนตรีที่มีความสำคัญของประเทศมาอย่างช้านาน
ไม่ว่าจะเป็นปูชณียบุคคลทางด้านดนตรี
และศิลปินแห่งชาติของประเทศ
หรือศิลปินนักดนตรีรุ่นใหม่ทั้งเพลงลูกทุ่ง
และเพลงไทยสากลที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
เรียกได้ว่าจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นบ้านของศิลปิน
นักดนตรี คนดนตรีที่มีชื่อเสียงมากมายนับไม่ถ้วน

จังหวัดสุพรรณบุรีมีความโดดเด่นที่ภาคเกษตรกรรม
แต่หารู้ไม่ว่าความเป็นแผ่นดินเกษตรนี้เป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดดนตรีพื้นบ้านสุพรรณอย่าง
เพลงอีแซว และมีหลายเสียงที่กล่าวกันว่า
ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของดินสุพรรณนั้นส่งผลให้ชาวสุพรรณบุรีมีเนื้อเสียงที่ไพเราะ
มีเอกลักษณ์หาใครจะเปรียบได้
ทำให้นักร้องชาวสุพรรณโดยเฉพาะนักร้องลูกทุ่งแต่ละท่านมีน้ำเสียงนุ่มนวล
อ่อนหวาน เป็นที่จดจำให้แก่ผู้ฟังโดยทั่วไป
หลังจากการที่ได้ซึมซับในเสียงดนตรีไทย
ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีลูกทุ่ง
ก่อให้เกิดการต่อยอดเป็นเพลงเพื่อชีวิตที่มีการประยุกต์ใช้ดนตรีสากลผนวกเข้าไว้กับวิถีชีวิตพื้นบ้านโดยทั่วไป
และถึงแม้กาลเวลาจะผ่านไปสุพรรณบุรีก็ยังคงเป็นภูมิลำเนาเดิมของศิลปินเพลงยุคใหม่ที่มีชื่อเสียงมากมายที่เข้ามาเพิ่มความหลากหลายทางวัฒนธรรมดนตรีให้จังหวัดสามารถเชื่อมโยงกับฐานผู้ฟังในระดับสากลได้มากยิ่งขึ้น
ดนตรีพื้นบ้าน
จังหวัดสุพรรณบุรี อยู่ในเขตที่ราบภาคกลาง
เป็นท้องทุ่งนาผืนใหญ่ที่มีการละเล่นพื้นบ้านเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของชาวนา
ทั้งเพลงระบำบ้านไร่ เพลงเหย่ย เพลงเพวงมาลัย
เพลงฉ่อย เพลงลำตัด เพลงเรือ ฯลฯ
ชาวสุพรรณบุรีเป็นนักเล่นเพลงพื้นบ้านตัวยง
เมืองสุพรรณจึงมีเทศกาลเล่นเพลงประจำปี 2 ครั้ง
คือ งานไหว้พระเดือนสิบสอง และงานไหว้พระเดือนห้า
ณ วัดป่าเลไลยก์
เป็นที่ทราบกันในเหล่านักเล่นเพลงทั่วภาคกลางในสมัยอดีตว่างานไหว้พระเดือนสิบสองเป็นเวทีใหญ่สำหรับการประชันเพลงแห่งท้องทุ่ง
เมื่อถึงวันงานนักเล่นเพลงจากทั่วสารทิศจะเดินทางมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง
โดยพายเรือมาจอดที่ท่าน้ำหน้าวัดประตูสาร
(จุดแรกของการประชันเพลง ประเดิมด้วยเพลงเรือ)
กระทั่งดึกจึงขึ้นบกเดินเท้าไปวัดป่าเลไลยก์
ไหว้หลวงพ่อโต
จากนั้นนักเล่นเพลงจะมาชุมนุมกันใต้ต้นโพธิ์
บริเวณลานวัดหน้าวิหาร
และประชันเพลงกันจนถึงรุ่งสาง
โดยมีเพลงที่นิยมเล่นกันในงานนี้คือ เพลงพวงมาลัย
เพลงอีแซว และเพลงเรือ
ซึ่งสุพรรณบุรีมีตำนานพ่อเพลง แม่เพลง
ที่มีชื่อเสียง ได้แก่

แม่บัวผัน จันทร์ศรี
และพ่อไสว วงษ์งาม:
บรมครูแห่งแม่เพลง-พ่อเพลงอีแซว
แม่บัวผัน และพ่อไสว
เป็นศิลปินเพลงพื้นบ้าน เพลงอีแซวที่มีชื่อเสียงใน
อ.ศรีประจันต์ ทั้งสองท่านมีความผูกพัน
และมีความชื่นชอบกับเพลงพื้นบ้านมาตั้งแต่วัยเยาว์
จนได้มีร้องเพลงโอกาสสั่งสมประสบการณ์จากการแสดงมามากมายหลายเวที
โดยพ่อไสวเป็นศิลปินเพลงอีแซวคนแรกที่นำตะโพนมาตีประกอบจังหวะ
ต่อมาแม่บัวผัน
และพ่อไสวได้ตั้งวงเพลงเพื่อฝึกลูกศิษย์
ถ่ายทอดเพลงพื้นบ้านสู่คนรุ่นหลังมาเป็นเวลาหลายสิบปี
มีผลงานการบันทึกเสียง
และวิดิทัศน์สาธิตเพลงพื้นบ้านไว้มากมาย และในปี
พ.ศ. 2533 แม่บัวผัน
และพ่อไสวก็ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็น
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน)

แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์:
ตำนานแม่เพลงอีแซว
มีชื่อจริงว่า นางเกลียว เสร็จกิจ เกิดที่
ต.วงน้ำซับ อ.ศรีประจันต์
แม่ขวัญจิตมีความสนใจในเพลงพื้นบ้านมาตั้งแต่อายุ
15 ปี ติดตามเรียนรู้
ฝึกหัดการร้องเพลงอีแซวแบบครูพักลักจำของแม่บัวผัน
จันทร์ศรี และพ่อไสวเป็นประจำ ด้วยความอดทน
และตั้งใจจริง ตลอดจนปฏิภาณ
ไหวพริบของแม่ขวัญจิตในการว่าเพลงอีแซว
ทำให้ท่านเป็นที่ยอมรับ
และเป็นที่ชื่นชอบของนักฟังเพลงอีแซวจนได้รับสมญาว่า
ตำนานแม่เพลงอีแซว
และได้รับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็น
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน)
ในปีพ.ศ. 2539

ดนตรีไทย
จังหวัดสุพรรณบุรีมี 2 ศิลปินแห่งชาติด้านดนตรีไทย

โดยท่านแรกคือ
ครูมนตรี ตราโมท
(คีตกวี 5 แผ่นดิน)
ผู้มีความรู้ความสามารถด้านดุริยางคศาสตร์ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานเพลงไทยมากกว่า
200 เพลง ทั้งการประพันธ์ทำนอง คำร้อง
และบทความวิชาการเกิดเป็น
ตำราดนตรีฉบับแรกของแผ่นดินไทย และอีกท่านคือ
ครูแจ้ง คล้ายสีทอง
(ช่างขับคำหอม) ผู้มีความเชี่ยวชาญสามารถ
และเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการขับเสภา
พร้อมด้วยเนื้อเสียงยอดเยี่ยม และทักษะในการตีกรับ
โดยมีผลงานที่มีชื่อเสียง คือ
การขับเสภาในละครเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน
เพลงลูกทุ่ง

ด้วยเอกลักษณ์ในเนื้อเสียง และสำเนียงเหน่อ
ทำให้จังหวัดสุพรรณบุรีขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองผลิตตำนาน
นักร้องลูกทุ่งชั้นนำตั้งแต่
ราชาเพลงลูกทุ่งอย่างสุรพล
สมบัติเจริญ
เจ้าของบทเพลงลูกทุ่งเลือดสุพรรณ
เอ้ามาด้วยกัน
เอ้าไปด้วยกัน เลือดสุพรรณของเรานี่เอย
และราชินีเพลงลูกทุ่ง หรือพุ่มพวง
ดวงจันทร์
ไปจนถึงนักร้องผู้มีชื่อเสียงอีกหลายท่าน เช่น
ก้าน แก้วสุพรรณ
(ผู้เปิดตำนานนักร้องจากแดนสุพรรณ)
สายัณห์ สัญญา
(แหบมหาเสน่ห์) ไวพจน์
เพชรสุพรรณ (ศิลปินแห่งชาติ
สาขาศิลปะการแสดง -นักร้องเพลงลูกทุ่ง ปี พ.ศ.
2540) เปาวลี พรพิมล
และอื่น ๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน
เพลงเพื่อชีวิต

เมื่อกล่าวถึงเพลงเพื่อชีวิตก็จะเป็นใครไม่ได้นอกจาก
แอ๊ด คาราบาว
ราชาเพลงเพื่อชีวิต ศิลปินเลือดสุพรรณ
ชาวท่าพี่เลี้ยงที่ได้ซึมซับความรักความชอบทางด้านดนตรีมาตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กผ่านการละเล่นเพลงพื้นบ้านภาคกลางทั้งลำตัด
เพลงฉ่อย เพลงอีแซว
อีกทั้งยังมีบิดาเป็นหัวหน้าวงดนตรีประจำจังหวัดสุพรรณบุรีอีกด้วย
ซึ่งแอ๊ด
คาราบาวได้ฝากผลงานเพลงที่มีความเชื่อมโยงกับจังหวัดสุพรรณบุรีไว้มากมาย
อาทิ เพลงหนุ่มสุพรรณ
เพลงมนต์เมืองฝันสุพรรณบุรีเป็นต้น และในปี พ.ศ.
2556 แอ๊ด
คาราบาวยังได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ
สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) ด้วย
ดนตรีสมัยใหม่

จากวัฒนธรรม
ความนิยมในเสียงดนตรีที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
ทำให้เทรนด์ของคนรุ่นหลังในการฟังดนตรีได้ผันตามยุคสมัยไปด้วย
แต่จังหวัดสุพรรณบุรีก็ยังคงเป็นภูมิลำเนาที่ผลิตศิลปินนักดนตรีสมัยใหม่อย่างต่อเนื่อง
อาทิ ศิลปินเพลงร็อคอย่าง
ตูน บอดี้แสลม
(นายอาทิวราห์ คงมาลัย)
นักร้องผู้เริ่มต้นจากเพลงลูกทุ่ง
สู่นักร้อง-นักแสดงมากความสามารถอย่าง
กันต์ เดอะสตาร์
(นภัทร อินทร์ใจเอื้อ)
นักร้องบอยแบนด์ผู้ผันตัวสู่ผู้กำกับ
และโปรดิวเซอร์อย่าง แดน
ดีทูบี (วรเวช ดานุวงศ์)
ตลอดจนกลุ่มผู้เดินตามความฝันสู่การประกวดเวทีใหญ่อย่าง
แรปเปอร์เด็กเลี้ยงควาย (เทพฤทธิ์ อิ่มสุดสำราญ
รายการเดอะแรปเปอร์) และ วงSunset The Voice
2019 และกลุ่มผู้เข้าร่วมประกวดวงดนตรี Suphanburi
String Contest เป็นต้น
จากจุดเด่นทางด้านดนตรีนี้เองทำให้ปัจจุบันการพัฒนาเมืองสุพรรณเกิดการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชน
ภาครัฐ ภาคเอกชน
และภาคการศึกษาที่ร่วมกันบูรณาการในการยกระดับเศรษฐกิจ
และสังคมของสุพรรณบุรีให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี
(Creative City of Music)
เพื่อที่จะได้เป็นการเปิดประเทศสู่สากล
สร้างชื่อเสียงของสุพรรณบุรีให้ปรากฏอยู่บนแผนที่โลก
และเพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนจังหวัดสู่ความเป็นเมืองแห่งความสุข
(City of Happiness)

สุพรรณบุรีเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
(องค์การมหาชน)
สำนักงานพื้นที่พิเศษ 7 พื้นที่โบราณอู่ทอง
ชั้น 2 โครงการโตโลโปโตี้ 789 หมู่ 3 ต.อู่ทอง
อ.อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี 72160
โทรศัพท์: 0-3556-5562 อีเมล:
suphanburicreativecity@gmail.com |