|
|
อาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่ว อาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่วและประวัติศาสตร์สุพรรณบุรี เป็นสถานที่เรียนรู้เรื่องราวพระราชประวัติของขุนหลวงพะงั่ว ปฐมกษัตริย์รัฐสุพรรณภูมิ และบันทึกประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณบุรีตั้งแต่ยุคแรกจนถึงยุคปัจจุบัน ผ่านภาพประติมากรรมสำริดที่มีความยาวกว่า 88 เมตร ถือว่ายาวมากที่สุดในประเทศไทย พร้อมเทคโนโลยีแสง เสียงประกอบการจัดแสดงอย่างงดงาม
ภาพประติมากรรมสำริดนูนสูงและนูนต่ำจัดแสดงอย่างยิ่งใหญ่เป็นรูปวงรี แบ่งเป็น 9 ตอน ตั้งแต่ชุมชนแรกเริ่มสุพรรณบุรี แสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ พิธีกรรม ความเชื่อ การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สังคมเกษตรกรรมในจ.สุพรรณบุรีเมื่อ 4,000-2,500 ปีมาแล้ว และภาพโบราณวัตถุสำคัญจากแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี เช่น ภาชนะมีนม ภาชนะมีเขา ภาชนะสามขา อู่ทอง...เครือข่ายการค้าข้ามภูมิภาค แสดงถึงการติดต่อค้าขายระหว่างผู้คนในเมืองโบราณอู่ทองกับพ่อค้าจากชุมชนใกล้เคียงและพ่อค้าชาวต่างชาติ ได้แก่ ชาวอินเดีย ชาวอาหรับ และชาวจีน เมืองโบราณอู่ทองเป็นหนึ่งในชุมทางการค้าสำคัญของลุ่มแม่น้ำแม่กลองและลุ่มแม่น้ำท่าจีน และเป็นส่วนหนึ่งเส้นทางการค้าทางน้ำสำคัญดินแดนสุวรรณภูมิ
ถัดมาแสดงถึงการรับวัฒนธรรมศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจากประเทศอินเดีย ก่อให้เกิดรูปแบบวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เรียกว่าวัฒนธรรมทวารวดี ด้วยความเคารพและศรัทธาในศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดูของผู้คนในเมืองโบราณอู่ทองสร้างศาสนสถานและรูปเคารพทางศาสนา ได้แก่ ธรรมจักรและศิวลึงค์
ก่อนเข้าสู่ร่องรอยพุทธศาสนามหายาน แสดงให้เห็นถึงการเดินทางมายังปราสาทเนินทางพระ ศาสนสถานในศาสนาพุทธแบบมหายาน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมขอมสมัยบายน เพื่อทำการสักการบูชาพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์องค์สำคัญในพุทธมหายาน
ต่อเนื่องสู่ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา แสดงเรื่องราวของขุนหลวงพะงั่วเจ้าเมืองสุพรรณภูมิทรงนำกองทัพออกสู้ศึกกับอาณาจักรขอมจนได้รับชัยชนะ และแสดงภาพเจดีย์วัดไก่เตี้ย เจดีย์ก่ออิฐทรงแปดเหลี่ยมรูปแบบเอกลักษณ์ของเจดีย์สมัยก่อนการสถาปนาอยุธยา และภาพแหล่งเตาบ้านบางปูน แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี
ภาพประติมากรรมเล่ามาถึง เหตุการณ์การเสด็จขึ้นครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือ ขุนหลวงพะงั่ว แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ และการติดต่อค้าขายกับเมืองจีนที่รุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่ง ในสมัยของสมเด็จพระนครินทราธิราช (เจ้านครอินทร์)
จากนั้นพาเข้าสู่สมรภูมิยุทธหัตถี แสดงเหตุการณ์การกระทำยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี ณ ต.หนองสาหร่าย อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี
สุพรรณบุรี หัวเมืองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จัดแสดงพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเหตุการณ์เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรี และพระบรมรูปของสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและเหตุการณ์เมื่อครั้งเสด็จฯ สักการะบวงสรวงเจดีย์ยุทธหัตถี พร้อมด้วยคณะเสือป่ารักษาพระองค์ จนถึงปัจจุบันเมืองสุพรรณบุรี แสดงเหตุการณ์ในหลวงรัชกาลที่9 และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงวางพวงมาลาในรัฐพิธีถวายราชสักการะสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระราชประวัติของขุนหลวงพะงั่ว ขุนหลวงพะงั่ว กษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ เสด็จพระราชสมภพ พ.ศ. 1853 ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ฉลาด มีหัวใจนักรบ ดูแลทหารและไพร่ฟ้าประชารษฎร์อย่างดี ทรงนำกองทัพออกสู้ศึกกับอาณาจักรขอมจนได้รับชัยชนะ ทรงยกกองทัพสุพรรณภูมิ ไปยึดอำนาจอยุธยาจากพระราเมศวร เสด็จขึ้นเสวยราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 3 ของกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 1913 เมื่อขึ้นครองราชย์แล้วได้ยกทัพไปรบเมืองเหนือหลายครั้ง โดยเฉพาะการยึดเมืองชากังราวและเมืองพิษณุโลก ... พ.ศ.1931 ทรงยกทัพขึ้นไปชากังราวอีกครั้ง และเสด็จสวรรคตระหว่างเดินทัพกลับ รวมเวลาที่ทรงครองราชย์ 18 ปี พระนามขุนหลวงพะงั่วนั้น สันนิษฐานได้ว่าทรงเป็นพระราชโอรสในลำดับที่ 5 เพราะการนับลำดับลูกชายในเอกสารโบราณเรียงลำดับคือ อ้าย ยี่ สาม ไส งั่ว ลก เจ็ด แปด เจ้า จ๋ง
สถานที่ตั้ง :
ศูนย์ราชการกรมศิลปากร ถนนสุพรรณบุรี-ชัยนาท
ตำบลสนามชัย อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี 72000
ค่าพิกัด
GPS
*** อาคารตั้งอยู่ด้านหลังของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณบุรี
|
![]() |
![]() |
![]() |
Last modified:
07/09/64
|