
เปิดม่านประวัติศาสตร์วงศ์อู่ทอง-วงศ์สุพรรณบุรี
ผ่านบันทึกร่วมสมัยของจีน
ดร.ปริวรรต สาคร
การศึกษาประวัติศาสตร์ ดั่งเช่น
เรื่องราวสมัยอยุธยาตอนต้น หากมุ่งค้นคว้าแต่หลักฐาน/เอกสาร
ที่จำกัดเฉพาะที่มีในประเทศไทย
หรือเท่าที่ทางการเผยแพร่
คงไม่เพียงพอต่อการหาข้อสรุปเพื่ออธิบายสภาวะทางการเมือง/การเมืองระหว่างประเทศ/เศรษฐกิจ/สังคม
ในสถานการณ์ ณ ห้วงเวลาขณะนั้นได้เท่าที่ควร
มีความจำเป็นต้องค้นคว้าหลักฐานทางประวัติศาสต์ร่วมสมัยจากแหล่งอื่นๆ
อีกทั้งต้องศึกษาความสัมพันธ์และความเป็นไปของรัฐต่างๆในภูมิภาคนี้
เพื่อนำมาหาข้อสรุปอีกด้วย.......
กว่าสี่พันปี
ของความเป็นประเทศมหาอำนาจ ผ่านการปกครองของ 24
ราชวงศ์ จนเข้าสู่ยุคสาธารณรัฐเมื่อ
พ.ศ. 2455
จีน
มีบทบาทสำคัญต่อ ความเป็นไปของ อาณาจักร/รัฐ/ประเทศ
ที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากอดีตจวบปัจจุบัน
ครอบคลุมทั้งมิติของการเมือง การเมืองระหว่างประเทศ
การค้า วัฒนธรรม ฯลฯ
อัตลักษณ์ที่โดดเด่นอย่างหนึ่ง ของระบบราชการจีน
รวมถึงเหล่าปัญญาชนและชาวจีนทั่วไปที่รู้หนังสือ คือ
มีการบันทึกเรื่องราวต่างๆอย่างเป็นระบบ
ทั้งในรูปแบบของพงศาวดารราชวงศ์ต่างๆ
จดหมายเหตุประจำรัชกาล
ซึ่งนักประวัติศาสตร์ที่ทำการศึกษาค้นคว้าในบริบทนี้
ต่างลงความเห็นว่า มีความถูกต้องและแม่นยำทั้ง
ชื่อบุคคล สถานที่ เหตุการณ์ ลำดับเหตุการณ์ วัน-เวลา
โดยเฉพาะสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ. 1911 - 2187)
ที่ร่วมสมัยกับกรุงศรีอยุธยาตอนต้นสืบเนื่องมาจนถึงตอนกลาง
เศรษฐกิจคือเงื่อนไขกำหนดการเมือง
นักประวัติศาสตร์ชั้นนำของไทยที่มีกรอบความคิดก้าวหน้า
เช่น
จิตร
ภูมิศักดิ์ มานิต วัลลิโภดม ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม
สุจิตต์ วงศ์เทศ พิเศษ เจียจันทร์พงศ์
ฯลฯ ต่างมีความเห็นสอดคล้องกันว่า
การก่อกำเนิดของรัฐต่างๆภายหลังการเสื่อมอำนาจทางการเมืองของขอม
เช่น สุโขทัย อยุธยา ล้านนา ล้านช้าง จามปา ฯลฯ
ล้วนแต่เป็นผลมาจากที่ จีน
ดำเนินนโยบายการค้าทางทะเลมุ่งมายังแหลมสุวรรณภูมินั่นเอง
อีกทั้งรูปแบบทางเศรษฐกิจและการเมืองของจักรวรรดิขอม
ที่เป็นสังคมทาสได้เลยจุดอิ่มตัวไปแล้ว
จึงเปลี่ยนผ่านมาเป็นระบอบศักดินา
อันเป็นวิวัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติ
แน่นอนว่ายังมีปัจจัยสำคัญอื่นๆที่ส่งผลต่อการล่มสลายของจักรวรรดิขอม
เช่น การแตกแยกกันเองของชนชั้นปกครองขอม
อิทธิพลของพุทธศาสนานิกายหินยานที่ทลายลัทธิความเชื่อแบบพราหมณ์ของพวกขอม
รวมทั้งจิตสำนึกของบรรดาทาสที่แสวงหาความเป็นไท
หาหนทางปลดแอกที่ขอมพันธนาการเอาไว้หลายชั่วชีวิต
ออกไปเสีย
นโยบายต่างประเทศของจีนต่อรัฐในภูมิภาคอินโดจีน
เมื่อราชวงศ์ถังปกครองจีน
(พ.ศ 1161 - 1450)
เป็นยุคที่ร่วมสมัยกับกับ
อาณาจักรน่านเจ้า จักรวรรดิขอม อาณาจักรทวารวดี
และอาณาจักรโบราณของเวียตนาม
จีนดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าวต่อน่านเจ้า และเวียตนาม
ด้วยการทำสงครามรุกราน
หากว่าราชวงศ์ถังยังไม่เป็นเอกภาพและมีความเข้มแข็งที่มากพอ
จึงไม่สามารถกำหราบน่านเจ้าและเวียตนามลงได้
ขณะเดียวกันทางการจีนได้ส่งทูตมายังจักรวรรดิขอม
เพื่อเร่งรัดให้ส่งบรรณาการแก่จีน
หากพวกขอมที่มีวัฒนธรรมแข็ง เช่นเดียวกับ พม่า
และเวียตนาม ไม่ยอมรับคณะทูตของจีน
เอกสารบางแห่งระบุว่า
ขอมได้ฆ่าคณะทูตของจีนเสียด้วย
พ้นจากยุคราชวงศ์ถัง
เป็นราชวงศ์ซ้อง (ซ่ง)
ที่ขึ้นมาปกครองจีน (พ.ศ.
1503 - 1822)
ซึ่งยังคงดำเนินนโยบายการเมืองต่อรัฐเพื่อนบ้านทางใต้ในลักษณะที่ไม่แตกต่างจากราชวงศ์ถัง
และในยุคร่วมสมัยนี้ได้เกิดรัฐใหม่ทางใต้
ที่ทางการจีนถือว่าเป็นคู่ปรปักษ์สำคัญขึ้นมา นั่นคือ
อาณาจักรพุกาม (พ.ศ. 1587 -
1830)
ทางการจีนในสมัยราชวงศ์ซ้องเปลี่ยนท่าทีทางการเมืองต่อน่านเจ้าให้เป็นไปในลักษณะที่นุ่มนวลขึ้นโดยใช้กุศโลบาย
สยุมพรทางการเมือง
ประสานไมตรีและครอบงำทางการเมืองต่อน่านเจ้าไปพร้อมๆกัน
(น่านเจ้ามีกรอบวัฒนธรรมค่อนข้างอ่อน
จีนมีกรอบวัฒนธรรมที่แข็ง)
ทั้งนี้เพื่อใช้น่านเจ้าเป็นทางผ่านหรือเป็นฐานสำหรับการโจมตีพุกามนั่นเอง
นักประวัติศาสตร์ชาตินิยมพม่า เชื่อว่า
การที่อาณาจักรพุกามล่มสลายลงไปนั้น
เป็นผลมาจากคนไทยน่านเจ้าเข้าข้างจีน
แสนยานุภาพของราชวงศ์หยวน กับผลกระทบต่อสุวรรณภูมิ
เมื่อราชวงศ์หยวน (หงวน)
ขึ้นปกครองจีน
(พ.ศ. 1807 - 1911)
ด้วยความพร้อมของกองทัพที่มีแสนยานุภาพเกรียงไกร
จึงดำเนินนโยบายการเมืองต่อรัฐเพื่อนบ้านอย่างแข็งกร้าวด้วยการทำสงคราม
อันมีผลทำให้
น่านเจ้าและพุกาม ล่มสลายลงใน พ.ศ. 1823 และ 1830
ตามลำดับ และในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน
ทัพมองโกลของราชวงศ์หยวนได้โจมตีอาณาจักรไดโคเวียด
หากว่าบรรพบุรุษของชาวเวียตนามต่อสู้อย่างเหนียวแน่น
รอดพ้นจากน้ำมือมองโกลไปได้
หากว่าสภาพบ้านเมืองเสียหายย่อยยับ
ผลจากการล่มสลายของพุกามและน่านเจ้า
รวมทั้งความย่อยยับของไดโคเวียด ส่งผลทำให้ ขอม
ผ่อนท่าทีต่อจีน ยอมต้อนรับคณะทูตของจีนที่ไปเยือนเมืองพระนคร
(นครธม) เมื่อ พ.ศ. 1839
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า
อำนาจต่อรองทางการเมืองของจีนในขณะนั้น สูงลิบลิ่ว
ขณะที่อำนาจของฝ่ายขอมอยู่ในระหว่างขาลง ตัวชี้วัดคือ
สุโขทัยแยกไปเป็นอาณาจักรเมื่อ พ.ศ. 1788
อันเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับการแยกตัวของอาณาจักรจามปา
และต่อมา อยุธยากับล้านช้าง
แยกตัวเป็นอิสระเมื่อ พ.ศ. 1893 และ 1896
ตามลำดับ
การมาเยือนเมืองพระนครของคณะทูตราชวงศ์หยวนในครั้งนี้
มีปัญญาชนจีนท่านหนึ่ง
เจียว ต้า กวน
ติดตามคณะทูตมาด้วยและได้พำนักอยู่ในเมืองพระนครเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี
เจียว ต้า กวน
ได้บันทึกเรื่องราวที่เขาพบเห็นในเมืองพระนครเอาไว้อย่างละเอียด
กล่าวได้ว่า เจียว ต้า กวน
เป็นชาวต่างชาติเพียงคนเดียวที่ได้พบเห็นอาณาจักรขอมด้วยตาตนเอง
แล้วจดบันทึกเป็นเรื่องราว บันทึกของ เจียว ต้า กวน
มีความถูกต้อง แม่นยำ ทั้งสถานที่ บุคคล และการอธิบาย
แม้นว่าเขาจะไม่ค่อยมีความเข้าใจต่อวัฒนธรรมขอมนัก
ซึ่งต่อมาได้มีการค้นพบบันทึกของ เจียว ต้า กวน
และได้มีแปลถ่ายทอดเป็นภาษาต่างๆ รวมทั้งภาษาไทยด้วย
ตอนหนึ่ง เจียว ต้า กวน อธิบายสภาพบ้านเมืองของเมืองพระนครไว้ว่า
บ้านเมืองของขอมปรักหักพังอันเนื่องมาจากกองทัพเสียนรุกรานเมื่อไม่กี่ปีมานี้
(จีนเรียกชาวสยามว่า เสียน)
สุดท้ายกษัตริย์ขอมยอมเจรจาหย่าศึก
กองทัพเสียนจึงยกพลกลับไป
นี่เป็นประเด็นที่จะนำไปตีความกันต่อไป ว่า
กองทัพเสียนจากที่ไหน
..... สุพรรณบุรี ละไว้ หรือ
สุโขทัย ที่มาโจมตีเมืองพระนคร....
อีกตอนหนึ่ง เจียว ต้า กวน เล่าถึงสินค้าจำพวก ผ้าไหม
ผ้าแพร ที่พบเห็นในเมืองพระนคร ระบุว่า
เป็นสินค้าที่มาจาก เสียน แน่นอนว่า ผ้าไหม
อาจเป็นผลิตภัณฑ์ที่ชาวเสียนผลิตได้เอง แต่ผ้าแพร
น่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากจีน
ผ่านเมืองท่าค้าขายของชาวเสียนอีกทีหนึ่ง
นั่นแสดงให้เห็นว่า พวกเสียน
(อโยธยา/สุพรรณบุรี/ละโว้/สุโขทัย เมืองใดเมืองหนึ่ง
หรือเมืองอื่นๆของอาณาจักรอยุธยาในเวลาต่อมา)
มีศักยภาพทางการเมืองและทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระหว่างขาขึ้น
ขณะที่พวกขอมกำลังโรยราลงไป

บันทึกสมัยราชวงศ์หมิง
เปิดม่านประวัติศาสตร์
วงศ์สุพรรณบุรีกับวงศ์อู่ทอง
เอกสารประวัติศาสตร์ของทางการไทย ระบุว่าสมัยสุโขทัยได้มีการส่งคณะทูตไปเมืองจีนหลายครั้ง
(ตรงกับราชวงศ์หยวน)
โดยเฉพาะในรัชกาลของพ่อขุนรามคำแหง
แม้แต่องค์ความรู้และเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตเครื่องถ้วยชามสังคโลก
(เตาทุเลียง) เป็นที่สันนิษฐานว่านำเข้ามาจากเมืองจีน
และเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า
ก่อนที่ราชวงศ์อู่ทองกับราชวงศ์สุพรรณบุรีจะบรรลุข้อตกลงทางการเมืองในการก่อตั้งอาณาจักรอยุธยาร่วมกันนั้น
ราชวงศ์ใดราชวงศ์หนึ่ง หรือทั้งสองราชวงศ์
คงมีความสัมพันธ์ทางการทูตเป็นอันดีกับทางราชวงศ์หยวนของจีน
เมื่อราชวงศ์หมิงขึ้นมาปกครองจีน (พ.ศ. 1911 - 2187)
จักรพรรดิฮงหวู่ได้ส่งคณะทูตมายังพระนครศรีอยุธยา
เมื่อ พ.ศ. 1913 ตรงกับรัชสมัย
พระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือขุนหลวงพะงั่ว
แห่งราชวงศ์สุพรรณบุรี
เพื่อแจ้งข่าวว่าพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์แล้ว
และคงเป็นการชี้นำทางการทูตว่า
ทางการอยุธยาต้องส่งคณะทูตไปเมืองจีนเพื่อถวายบรรณาการ
นับว่าเป็นโอกาสทองของขุนหลวงพะงั่วและราชวงศ์สุพรรณบุรีในเวลาต่อมาอีกหลายสิบปี
ในการกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้าทางทะเลกับจีน
อันมีผลทำให้วงศ์สุพรรณบุรีสามารถสร้างฐานอำนาจอย่างมั่นคงให้กับตนเอง
ตลอดรัชกาลของขุนหลวงพะงั่ว (พ.ศ. 1913 -
1931) ทางการอยุธยาส่งทูตไปเมืองจีนถึง 24
คณะ และเมื่อสิ้นรัชกาลขุนหลวงพะงั่ว
สืบเนื่องมาจนสิ้นรัชกาลของพระนครอินทร์
(พ.ศ. 1967)
อยุธยาส่งทูตไปเมืองจีนอย่างต่อเนื่องอีกถึง 32 คณะ
ขณะที่ทางการจีนส่งทูตมาเยือนอยุธยาเป็นการตอบแทน 15
คณะ
ถือว่าเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างราชสำนักจีน
(หมิง) กับราชสำนักอยุธยา

ขุนหลวงพะงั่ว
ซาน เลี่ย เจา บี๋ หยา
ปรากฏในเอกสารจีนสมัยราชวงศ์หมิงหลายฉบับ
นับตั้งแต่ พ.ศ. 1913 1920
นักประวัติศาสตร์หลายท่านตีความว่า
สมเด็จเจ้าพญา
หมายถึง พระบรมราชาธิราชที่
1 หรือ
ขุนหลวงพะงั่ว
นอกจากนี้ยังปรากฏคำอื่นๆที่น่าสนใจในเอกสารของจีน
เช่น ซาน เลี่ย เจา บี๋ หยา ซือ หลี่ เชอ หล่อ ลู่
ตีความว่า
สมเด็จพ่อพญาศรีอินทรราช หมายถึง
พระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือ
ขุนหลวงพะงั่ว
ซู เหมิน บาง หวาง
(ไม่ทราบว่าถ่ายทอดเป็นภาษาไทยว่าอย่างไร)
นักประวัติศาสตร์ตีความหมายถึง
พระอนุชาของขุนหลวงพะงั่ว
ครองเมืองสุพรรณบุรี
อันเป็นฐานทางการเมืองที่สำคัญของวงศ์สุพรรณบุรี
ตัดฉากมาที่พระนครศรีอยุธยา รัฐประหารครั้งที่ 1
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1
หรือพระเจ้าอู่ทอง เสด็จสวรรคต เมื่อ
พ.ศ. 1912
พระราเมศวร
โอรสองค์โตที่ครองเมืองละโว้ ขึ้นเสวยราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่สองของพระนครศรีอยุธยา
(วงศ์อู่ทอง) หากยังไม่ทันข้ามขวบปี
ทัพของขุนหลวงพะงั่วจากเมืองสุพรรณบุรี
เคลื่อนพลเข้าประชิดกรุงศรีฯ ทำรัฐประหาร
ยึดอำนาจจากพระราเมศวร
และต่อมาสามารถบรรลุข้อตกลงทางการเมืองโดยปราศจากการรบพุ่ง
(ว่าตามเอกสารประวัติศาสตร์ของทางการไทย)
พระราเมศวรกลับไปครองเมืองละโว้ ส่วนขุนหลวงพะงั่วขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา
(สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1
ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์วงศ์สุพรรณบุรี)
เจา เอี๋ยน กู๋ ม่าน เจา หลู่
ฉวิน อิน
เจ้าชายนักการทูตแห่งราชวงศ์สุพรรณบุรี
เอกสารราชวงศ์หมิง
ระบุว่า พ.ศ. 1914
คณะทูตจีนที่มาเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับศรีอยุธยาได้กลับเมืองจีน
โดยมีคณะทูตของอยุธยาเดินทางไปด้วยกัน
หนึ่งในคณะทูตของอยุธยา จีนเรียกว่า
เจา เอี๋ยน กู๋ ม่าน
นักประวัติศาสตร์ตีความว่า
เจ้าชายอินทรกุมาร
โอรสของ ซู เหมิน บาง หวาง
พระอนุชาของขุนหลวงพะงั่ว
ผู้ครองเมืองสุพรรณบุรี ดังนั้น
เจ้าชายอินทรกุมาร
(ประสูติ 1902 พระชนมายุ 12 พรรษา)
จึงเป็นพระนัดดา
(หลาน) ขุนหลวงพะงั่ว
นั่นเอง
พ.ศ.
1916
ได้เกิดเหตุการณ์ทางการทูตที่ไม่ปกติขึ้นที่ราชสำนักราชวงศ์หมิง
เมื่อ ซาน เลี่ย ซือ หนิง
(สมเด็จ ..... ไม่ทราบว่าถ่ายทอดเป็นภาษาไทยอย่างไร)
พระมารดาของพระราเมศวร
ได้ส่งคณะทูตไปเมืองจีน ร้องเรียนจักรพรรดิจีนว่า
พระราเมศวรถูกขุนหลวงพะงั่วชิงราชสมบัติไปอย่างไม่เป็นธรรม
ขุนหลวงพะงั่วแก้เกมการเมืองของวงศ์อู่ทองด้วยการส่งคณะทูตตามไปเมืองจีนแบบติดๆ
จนคณะทูตทั้งสองคณะที่เดินทางจากหลอหู
(ศรีอยุธยา)
มาพบกันที่ราชสำนักจีนนั่นเอง
ทำให้ทางการจีนไม่แน่ใจต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่อยุธยา
จึงไม่อนุญาตให้คณะทูตทั้งสองคณะเข้าเฝ้าจักรพรรดิจีน
(ไม่ต้อนรับอย่างเป็นทางการ)
แต่บันทึกของทางการจีนเกี่ยวกับกรณีนี้
เป็นไปในทำนองที่เป็นคุณต่อฝ่ายราชวงศ์สุพรรณบุรี
บันทึกของราชวงศ์หมิงระบุอีกว่า
คณะทูตจากราชสำนักอยุธยาไปเยือนจีน 3 ครั้ง ในปี พ.ศ.
1917 1918 และ 1920 มีการระบุชื่อบุคคลสำคัญในคณะทูต
(น่าจะหมายถึง ราชทูต) คือ
เจา หลู่ ฉวิน อิน
นักประวัติศาสตร์ตีความว่าเป็น
เจ้านครอินทร์
ซึ่งเป็นคนเดียวกับ
เจ้าชายอินทรกุมาร ในวัยเยาว์
เจา หลู่ ฉวิน อิน
ราชทูตจากราชสำนักอยุธยา
เป็นที่โปรดปรานของจักรพรรดิจีนเป็นอย่างยิ่ง
ถึงขั้นให้อัญเชิญพระราชลัญจกร
พร้อมคำจารึกแปลเป็นไทยว่า
พระราชลัญจกรสำหรับกษัตริย์แห่ง เสียม หลอ
มาถวายขุนหลวงพะงั่ว นั่นเท่ากับว่า เจา หลู่ ฉวิน อิน
สามารถดำเนินกุศโลบายทางการทูตให้ราชสำนักจีนยอมรับสถานะและอำนาจของขุนหลวงพะงั่ว
ว่าเป็นกษัตริย์แห่งพระนครศรีอยุธยาโดยชอบธรรม
จวบจน
พ.ศ. 1927
เจา หลู่ ฉวิน อิน
เป็นราชทูตไปเจริญสันถวไมตรีกับราชสำนักจีนอีกครั้งหนึ่ง
ตัดฉากมาที่พระนครศรีอยุธยา รัฐประหารครั้งที่ 2
เมื่อขุนหลวงพะงั่ว
เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 1931
เจ้าฟ้าทองลั่น
หรือ ทองจันทร์
พระชนมายุเพียง 16 พรรษา
ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาได้เพียง 7 วัน
พระราเมศวร
ยกทัพมาจากละโว้ ทำรัฐประหารสำเร็จ
สำเร็จโทษพระเจ้าทองลั่นด้วยท่อนจันทน์ แล้วขึ้นครองราชย์ครั้งที่สองในปี
1931 นั่นเอง
การเมืองระหว่างประเทศ - ราชสำนักอยุธยากับราชสำนักจีน
(ต่อ)
พ.ศ. 1932
เจา หลู่ ฉวิน อิน
(ประสูติ 1902 พระชนมายุ 30 พรรษา)
ในวัยหนุ่มฉกรรจ์เสด็จเมืองจีนอีกครั้ง
เพื่อร้องเรียนกับจักรพรรดิจีนว่า พระราเมศวร
ยึดราชบัลลังก์ไปจากพระเจ้าทองลั่นโดยไม่ชอบธรรม
ส่งผลให้พระราเมศวรต้องรีบส่งทูตไปอธิบายกับจักรพรรดิจีนว่า
เป็นการเปลี่ยนรัชกาลที่เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล
พ.ศ. 1938
เจา หลู่ ฉวิน อิน
ส่งทูตไปเมืองจีนเพื่อทูลให้จักรพรรดิทรงทราบว่า
พระราชบิดาของเจ้านครอินทร์ที่ครองเมืองสุพรรณบุรี
สิ้นพระชนม์ลง
(เข้าใจว่าพระองค์กลับไปครองเมืองสุพรรณบุรี
สืบต่อจากพระบิดา) และได้ส่งทูตไปเมืองจีนอีกครั้งใน
พ.ศ. 1941
ตัดฉากมาที่พระนครศรีอยุธยา
เปลี่ยนรัชกาลของวงศ์อู่ทอง
พระราเมศวรครองราชย์ได้
7 ปี เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ.
1938 ราชสมบัติจึงตกแก่ พระรามราชาธิราช
ราชโอรสองค์ใหญ่
ตัดฉากมาที่ราชสำนักจีน
พ.ศ. 1945
ย่ง หลอ
จักรพรรดิองค์ใหม่ของราชวงศ์หมิง เสด็จขึ้นครองราชย์
การเมืองระหว่างประเทศ - ราชสำนักอยุธยากับราชสำนักจีน
(ต่อ)
ต้นปีพ.ศ. 1946
เจา หลู่ ฉวิน อิน
ที่กลับไปครองเมืองสุพรรณฯ
ฐานที่มั่นเดิมของวงศ์สุพรรณบุรี ส่งคณะทูตไปถวายพระพร
จักรพรรดิ ย่ง หลอ
ที่ขึ้นครองราชย์
ซึ่งคณะทูตได้รับการต้อนรับจากทางการจีนเหนือความคาดหมาย
พร้อมกันนั้น จักรพรรดิจีนได้มอบ
โต๊ะ เนียว คือ
ตรารูปอูฐกาไหล่เงิน-กาไหล่ทอง
ให้ราชทูตอัญเชิญมาถวาย เจา
หลู่ ฉวิน อิน - นั่นเท่ากับว่า
ทางการจีนยังคงรักษาไมตรีและให้ความเชื่อถือต่อ เจา
หลู่ ฉวิน อิน เสมอมามิได้ขาด
ขณะที่คณะทูตของพระรามราชาธิราชเดินทางไปถวายพระพรจักรพรรดิจีน
ล่าช้าเกือบปลายปี 1946 และต่อมาในปี พ.ศ. 1949 เจา
หลู่ ฉวิน อิน ส่งทูตไปเมืองจีนอีกครั้งหนึ่ง
(ยังไม่ได้ศึกษารายละเอียดของการเยือนจีนครั้งนี้)
ตัดฉากมาที่พระนครศรีอยุธยา รัฐประหารครั้งที่ 3
พระนครอินทร์
ทำรัฐประหารยึดอำนาจจาก
พระรามราชาธิราช ในปี
พ.ศ. 1949 ได้สำเร็จ
(เอกสารของจีนสมัยราชวงศ์หมิง และบันทึกของ วัน วลิต
ระบุปีตรงกัน)
ขึ้นเสวยราชย์เป็น สมเด็จพระนครอินทร์ หรือ
สมเด็จพระนครินทร์
หรือ สมเด็จพระอินทรราชา
(เอกสารทางประวัติศาสตร์ของไทย ระบุเป็นปี 1952)
การเมืองระหว่างประเทศ - ราชสำนักอยุธยากับราชสำนักจีน
(ต่อ)
หลังจาก พ.ศ. 1949
เป็นต้นไป เจา หลู่ ฉวิน
อิน ไม่ปรากฏในเอกสารของทางการจีนอีกเลย
(ปรากฏในพระนามใด ยังมิได้ค้นคว้า)
อันสอดคล้องกับจดหมายเหตุของ วัน วลิต ที่ว่า
พระนครอินทร์ ขึ้นครองราชย์
โดยการทำรัฐประหาร พระรามราชาธิราชในปี 1949
.......... ป.ล. บทความชิ้นนี้ยังไม่สมบูรณ์
ขอนุญาตเพิ่มเติมในโอกาสหน้า
ดร.ปริวรรต สาคร
เอกสารอ้างอิง
1. จิตร ภูมิศักดิ์
สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา
พิมพ์ครั้งที่ 5 สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน 2547
2. จิตร ภูมิศักดิ์
โองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา
พิมพ์ครั้งที่ 3 สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน 2547
3. อนุรักษ์ ปัญญานุเคราะห์ ประวัติศาสตร์ชาติสยาม
จากทวารวดีถึงรัตนโกสินทร์ของคนไทยบนแผ่นดินอุษาคเนย์
รากแก้วบุ๊ค 2553
4. บังอร ปิยะพันธุ์
ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ 2537
5. สืบแสง พรหมบุญ
ความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการระหว่างจีนกับไทย
ค.ศ.1282-1853
ไทยวัฒนาพานิช 2525
6. สืบแสง พรหมบุญ กาญจนี ละอองศรี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
ความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการ
ระหว่างจีนกับไทย ค.ศ. 1282‐1853
(Sino‐Siamesetributary relation 1282‐1853)
มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 2525
7.
http://th.wikipedia.org/wiki/อาณาจักรอยุธยา
8.
http://th.wikipedia.org/wiki/รายพระนามพระมหากษัตริย์ไทย
9.
http://www.thaizhong.org
ราชวงศ์สุพรรณบุรี ตอนที่
1
|