พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง

 

 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง

ประวัติความเป็นมา
   ประวัติการก่อตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง พ.ศ. 2446 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้ตรวจราชการเมืองสุพรรณบุรี และเสด็จสำรวจเมืองโบราณอู่ทอง ทรงนิพนธ์เล่าเรื่องเมืองอู่ทองในรายงานเสด็จตรวจราชการเมืองสุพรรณบุรีและทรง
นิพนธ์หนังสือเรื่องนิทานโบราณคดี
   พ.ศ.2476 ราชบัณฑิตยสภาได้เริ่มทำการสำรวจทำแผนผังเมืองโบราณอู่ทองโดยสังเขป ซึ่งปรากฏว่าเป็นเมืองโบราณสำคัญที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีแห่งหนึ่ง
   พ.ศ. 2502 กรมศิลปากรได้จัดสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ขึ้นเป็นอาคารชั่วคราวเพื่อเก็บรักษาโบราณวัตถุที่ได้จากการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีที่เมืองโบราณอู่ทอง
   พ.ศ. 2504 กรมศิลปากรทำการสำรวจขุดแต่งโบราณสถานที่มีกระจายอยู่ทั่วไปในเมืองโบราณ
อู่ทองเพิ่มเติม พบโบราณวัตถุสมัยทวารดีจำนวนมาก
   พ.ศ. 2507-2509 ศาตราจารย์ช็อง บวสเซลีเย่ร์(M.JeanBoisselier) ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะภูมิภาคเอเซียอาคเนย์ชาวฝรั่งเศส และหัวหน้าหน่วยศิลปากรในขณะนั้น ได้ทำการสำรวจขุดแต่งโบราณสถานในเมืองอู่ทอง และศึกษาค้นคว้าทางโบราณคดีกับเมืองโบราณอู่ทอง
   พ.ศ.2508-2509 กรมศิลปากรได้จัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทองขึ้นเป็นการถาวร เพื่อเก็บรักษาและจัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากขุดค้นทางโบราณคดี เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2509

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง

นิทรรศการถาวร
อาคารจัดแสดงที่ 1
จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเมืองโบราณอู่ทองและวัฒนธรรมทวารวดี แสดงถึงพัฒนาการของเมืองโบราณอู่ทอง ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ กระทั่งพัฒนาเข้าสู่สังคมประวัติศาสตร์สมัยทวารวดี
ประกอบด้วยห้องจัดแสดง 2 ห้อง
   ห้องจัดแสดงที่ 1 บรรพชนคนอู่ทอง (สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และการรับวัฒนธรรมจากภายนอก)ห้องบรรพชนคนอู่ทอง จัดแสดงถึงพัฒนาการของเมืองโบราณอู่ทอง เมืองโบราณแห่งนี้ พบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์แบบสังคมเกษตรกรรมยุคหินใหม่ต่อเนื่องถึงยุคโลหะ เมื่อประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว ต่อมาประมาณ 2,000 ปี พบหลักฐานโบราณที่แสดงว่า เมืองโบราณอู่ทองเป็นเมืองท่าศูนย์กลางการติดต่อขายสำคัญของชุมชนโบราณในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับประเทศสำคัญของโลกในเวลานั้น เช่น ลูกปัดชนิดต่างๆ ทำด้วยลูกปัดต่างๆทำด้วยหินมีค่าที่นำเข้าจากประเทศอินเดีย เหรียญกษาปณ์โรมัน ปูนปั้นรูปพ่อค้าชาวเปอร์เซีย ฯลฯ ราวพุทธศตวรรษที่ 8-10 หรือเมื่อประมาณ 1,600-1,800 ปีที่ผ่านมา พบหลักฐานที่แสดงถึงการนับถือพุทธศาสนาในเมืองโบราณอู่ทอง โดยเฉพาะพุทธศาสนาแบบหินยานหรือเถรวาท ทำให้เมืองอู่ทองเกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบทางวัฒนธรรมเข้าสู่วัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งเป็นวัฒนธรรมสมัยประวัติศาสตร์ยุคแรกสุดบนผืนแผ่นดินไทย
โบราณวัตถุสำคัญที่จัดแสดง ได้แก่ เครื่องประดับทองคำ ลูกปัดทองคำสมัยทวารวดี ลูกปัดที่ทำจากหินแก้ว แผ่นดินเผาภาพพระภิกษุอุ้มบาตร อิทธิพลศิลปะอมราวดี ซึ่งถือเป็นโบราณวัตถุที่ได้รับอิทธิพลอินเดียที่มีอายุเก่าที่สุดเท่าที่พบในประเทศไทย แผ่นดินเผ่ารูปเทวดา ตราประทับดินเผา จารึกดินเผา จารึกแผ่นทองแดงเหรียญกษาปณ์โรมัน เหรียญเงินมีจารึก และพระพุทธรูปสำริด
  
ห้องจัดแสดง 2 อู่ทองศรีทวารวดี (วัฒนธรรมทวารวดีที่เมืองโบราณอู่ทอง) ห้องอู่ทองศรีทวารวดี จัดแสดงเรื่องราวและความสำคัญของเมืองโบราณอู่ทองในฐานะเมืองประวัติศาสตร์ยุคแรกของประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการค้าและศูนย์กลางพระพุทธศาสนาก่อนแพร่กระจายความเจริญไปสู่ชุมชนโบราณร่วมสมัยอื่นๆ

เมืองโบราณอู่ทองเป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี มีผังเมืองเป็นรูปวงรี ตัวเมืองมีคูน้ำคันดินล้อมรอบภายในตัวเมืองและบริเวณโดยรอบมีซากโบราณกระจายอยู่ไม่น้อยกว่า 20 แห่ง ห่างออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นที่ตั้งของโบราณสถานคอกช้างดิน กลุ่มศาสนาสถานและสิ่งก่อสร้างเนื่องในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ลัทธิไศวนิกาย เมืองโบราณอู่ทองมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-16 หรือประมาณ 1,000-1,400 ปีที่ผ่านมา เป็นหลักฐานแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองทางวัตถุและวิทยาการต่างๆในอดีต อันมีผลจากการผสมผสานวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้ากับการรับวัฒนธรรมจากประเทศอินเดีย ก่อให้เกิดรูปแบบทางวัฒนธรรมที่เรียกว่า “ทวารวดี” มีลักษณะที่สำคัญคือ การวางผังเมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ การนับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทการสร้างศาสนสถานด้วยอิฐขนาดใหญ่ และการมีรูปแบบทางศิลปกรรมเฉพาะของตนเอง

   โบราณวัตถุสำคัญที่จัดแสดง ได้แก่ ธรรมจักรศิลา พระพุทธรูปสำริด พระพุทธรูปดินเผา ประติมากรรมดินเผา ลูกปัด เครื่องประดับ เครื่องมือเครื่องใช้ ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม ลวดลายปูนปั้น ฯลฯ โดยเฉพาะธรรมจักรศิลาพร้อมแท่นและเสาตั้งซึ่งถือเป็นโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมที่พบเพียงชิ้นเดียวในประเทศไทย

อาคารจัดแสดงที่ 2
จัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับดินแดนสุวรรณภูมิ พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของเมืองโบราณอู่ทอง เส้นทางการค้าทางทะเล และเมืองโบราณอู่ทองในฐานะศูนย์กลางของศาสนาพุทธ โดยแบ่งการจัดแสดงออกเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้
   ห้องจัดแสดงชั้นบน ส่วนที่ 1 “พัฒนาการทางประวัติศาสตร์บนผืนแผ่นดินสุวรรณภูมิ”จัดแสดงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของดินแดนสุวรรณภูมิ แหล่งการค้าสำคัญของโลกยุคโบราณ ซึ่งสันนิษฐานว่าคือดินแดนที่เป็นประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์กระทั่งเข้าสู่สังคมเมือง และการค้าระหว่างชุมชนโบราณต่างๆทั้งในและภายนอกด้วยโบราณวัตถุและสื่อจัดแสดงประเภทต่างๆที่ทันสมัย
ห้องจัดแสดงชั้นบนส่วนที่ 2 “สุวรรณภูมิการค้าของโลกยุคโบราณ”จำลองเหตุการณ์การค้าทางทะเลจากคาบสมุทรอินเดียสู่ดินแดนสุวรรณภูมิเมื่อราว 3,000 ปีที่ผ่านมาโดยใช้สื่อระบบโสตทัศนูปกรณ์ แสดงถึงการเดินเรือของพ่อค้าชาวต่างชาติ เส้นทางการค้าและเมืองท่าสำคัญในเวลานั้น ซึ่งเชื่อว่าส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าดังกล่าวเกี่ยวข้องกับเมืออู่ทองโบราณโดยตรง
  
อาคารจัดแสดงหมายเลข 2 ห้องจัดแสดงชั้นล่าง“อู่ทองศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนา”จัดแสดงเหตุการณ์ในอดีตเมื่อประมาณ 1,600-1,800 ปีที่ผ่านมา “เมืองโบราณอู่ทอง อรุณรุ่งแห่งอารยธรรมไทย” เป็นเมืองสำคัญยุคแรกที่ได้รับอิทธิพลทางศาสนาพุทธจากอินเดีย ซึ่งได้กลายมาเป็นจุดกำเนิดวัฒนธรรมทวารวดีในเวลาต่อมา โดยหลักฐานว่าพระพุทธศาสนาได้เข้ามาประดิษฐานที่เมืองโบราณอู่ทองเป็นจุดแรกในดินแดนประเทศไทยจัดแสดงโดยใช้โบราณวัตถุสำคัญเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา แบบจำลองเจดีย์ธรรมจักร และการขุดค้นทางโบราณคดีที่มีเมืองโบราณอู่ทองด้วยเทคนิคการจัดแสดงอันทันสมัยพร้อมภาพยนตร์แอนนิเมชั่น

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง

โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุชิ้นเยี่ยม
โบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
   แผ่นดินเผาภาพพระภิกษุอุ้มบาตร ศิลปะอินเดียแบบอมราวดีประมาณพุทธศตวรรษที่ 9-10 (หรือราว 1,600-1,700 ปีมาแล้ว) ลักษณะแผ่นดินเผาภาพภิกษุ 3 องค์ ยืนอุ้มบาตรครองจีวรคลุม จีวรมีลักษณะเป็นริ้ว แสดงถึงอิทธิพลศิลปะอมราวดีของอินเดีย สันนิษฐานว่าทำขึ้นเพื่อประดับศาสนสถาน
**หมายเหตุ ถือเป็นโบราณวัตถุอิธิพลศิลปะอินเดียที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบในประเทศไทย
  
ชิ้นส่วนปูนปั้นภาพพระพุทธรูปนาคปรก ศิลปะอินเดียแบบอมราวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 9-10 หรือประมาณ 1,600-1,700 ปีมาแล้ว ลักษณะปูนปั้นภาพพระพุทธรูปนาคปรก ชำรุด เหลือเฉพาะส่วนฐาน เป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับขัดสมาธิไขว้พระบาทหลวมๆแสดงถึงอิทธิพลศิลปะอมราวดีของอินเดีย พระหัตถ์ทั้งสองวางประสานกันที่พระเพลา ด้านล่างเป็นขนดนาค 3 ชั้นซ้อนกัน
  
แผ่นดินเผารูปเทวดาเหาะ ศิลปะทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-13 หรือประมาณราว 1,300-1,400 ปีมาแล้ว ลักษณะแผ่นดินเผาทำเป็นภาพนูนต่ำรูปบุคคลเอียงตัวทำท่าเหาะ ยกแขนและขาข้างขวาไปด้านหลัง ขาซ้ายยื่นไปทางด้านหน้า สวมเครื่องประดับศีรษะแสดงถึงความเป็นบุคคลชั้นสูง ซึ่งน่าจะหมายถึงเทวดา มีสายคาดเอวพันรอบตัวโดยขมวดเป็นปม มีแถบผ้าพลิ้วไปทางด้านหลังคล้ายกับศิลปะอินเดียแบบคุปตะ
  
ปูนปั้นพระพุทธรูปปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ ศิลปะทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-14 หรือราว1,200-1,400 ปีมาแล้ว ลักษณะนิยมเรียกพระพุทธรูปยืนยกพระหัตถ์ทั้งสองข้างขึ้นในท่าแสดงธรรม โดยพระอังคุต (นิ้วหัวแม่มือ)และพระดัชนี(นิ้วชี้)จรดกันเป็นวงกลมว่า “ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์” ซึ่งหมายถึงเหตุการณ์ตอนที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ ภายหลังจากทรงเทศนาโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในช่วงเข้าพรรษา(ทั้งนี้คติในการสร้างพระพุทธรูปลักษณะเช่นนี้เดิมคงหมายถึงการแสดงธรรมขอพุทธองค์) พระพุทธรูปองค์นี้ทำด้วยปูนปั้น มีลักษณะพระพักตร์แบบพื้นเมือง ครองจีวรห่มคลุม พระหัตถ์ทั้งสองข้างทำปางแสดงธรรม สันนิษฐานว่าทำขึ้นเพื่อประดับตกแต่งศาสนาสถาน
  
แผ่นดินเผาภาพกินรี ศิลปะทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 10-12 หรือราว 1,400-1,600 ปีมาแล้วลักษณะแผ่นดินเผาภาพกินรีสวมเครื่องประดับศีรษะ อยู่ในท่าเคลื่อนไหว ยกมือขวาและขาซ้ายขึ้นไปด้านหลังเนื่องจากแผ่นภาพชิ้นนี้ค่อนข้างลบเลือนและบางส่วนแตกชำรุดไป จึงไม่สามารถทราบรายละเอียดที่ชัดนักวิชาการบางท่านให้ความเห็นว่าลำตัว และขา น่าจะเป็นลักษณะของสิงห์มากกว่านก จึงอาจจะเป็นสิงห์ ที่มีหน้าเป็นคนซึ่งเป็นภาพที่นิยมทำกันแพร่หลายในอินเดียภาคเหนือสมัยราชวงศ์คุปตะ
  
พระโพธิสัตว์ปัทมปาณิ ศิลปะศรีวิชัย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 14-15 หรือราว 1,100-1,200 ปีมาแล้วลักษณะประติมากรรมสำริดหล่อเป็นรูปพระโพธิสัตว์ปัทมปาณิหรือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์องค์สำคัญในศาสนาพุทธลัทธิมหายานประจำยุคปัจจุบัน ประทับยืนบนฐานทรงกลม เกล้าพระเกศาสูงมีรูปพระอมิตาภะปางสมาธิอยู่ที่หน้ามวยผม พระหัตถ์ขวาถือลูกประคำ พระหัตถ์ซ้ายถือก้านดอกบัวและคนโทน้ำ มีสายธุรำ พาดคล้องที่พระอังสาซ้าย
  
สิงห์สำริด ศิลปะทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14 หรือราว 1,200-1,300 ปีมาแล้ว ลักษณะสิงโตเป็นสัตว์สำคัญที่ปรากฏในงานศิลปะมาตั้งแต่สมัยทวารวดีจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ทั้งนี้สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลทางศิลปะจากประเทศอินเดีย เนื่องจากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ปรากฏสัตว์ดังกล่าวอยู่ในธรรมชาติสิงโตสำริดชิ้นนี้เป็นของหายาก นอกจากจะมีขนาดเล็กและหล่อด้วยโลหะสำริดแล้ว ฝีมือในการปั้นยังแสดงถึงอารมณ์ และลักษณะที่เป็นธรรมชาติ ถือเป็นโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมอีกชิ้นหนึ่งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
  
เครื่องประดับรูปกินรี ศิลปะทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 9-10 หรือประมาณ 1,600-1,700 ปีมาแล้ว ลักษณะด้านหลังเครื่องประดับทำเป็นห่วงกลม(คล้ายตุ้มหู) ด้านหน้าทำเป็นรูปบุคคลมีหน้าเป็นมนุษย์สมตุ้มหูทรงกลม มีผมเป็นมวย ลำตัวมีขนปกคลุม ขาคล้ายสัตว์ประเภทนก(สันนิษฐานว่าเป็นรูปกินรี)
   เครื่องประดับทองคำรูปหน้าบุคคล ศิลปะทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 9-10 หรือราวประมาณ 1,600-1,700 ปีมาแล้ว ลักษณะเครื่องประดับทองคำรูปใบหน้าบุคล (ยักษ์) ด้านหลังทำเป็นห่วงกลมด้านหน้าเป็นรูปบุคคลสามเครื่องประดับศรีษะเป็นช่อแหลมมีขอบกระบังหน้าเป็นสันนูน ตาโปน คิ้วหนา จมูก ใหญ่งุ้ม แก้มป่อง ปากอ้ากว้างเห็นฟันแลบลิ้นออกมา
  
เครื่องประดับทองคำ(ลูกปัด) ศิลปะทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 หรือราว 1,400 ปีมาแล้ว ลักษณะลูกปัดทองคำขนาดเล็กรูปทรงกลมพร้อมจี้ทองคำฝังพลอย ตัวจี้เป็นรูปวงกลมมีรัศมีโดยรอบขอบทำลายเม็ดไข่ปลา ตรงกลางมีพลอยสีขาวประดับ ลูกปัดที่พบในเมืองโบราณอู่ทองส่วนมากอยู่ในวัฒนธรรมทวารวดี มีทั้งทำจากหินมีค่าแก้ว ดินเผา และทองคำ ลูกปัดเหล่านี้นอกจากความสวยงามแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีการทำ และเป็นหลักฐานแสดงการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติอีกด้วย
   เศียรพระพุทธรูปทองคำ ศิลปะทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-14 หรือราว 1,200-1,400 ปีมาแล้ว ลักษณะส่วนของเศียรพระพุทธรูปขนาดเล็กพระพักตร์กลม พระขนงต่อกันปีกกา พระเนตรปิดพระโอษฐ์อมยิ้ม พระกรรณยาวเรียว พระพักตร์แสดงความมีเมตตา แม้จะมีขนาดเล็กแต่มีลายละเอียดคมชัดแสดงถึงความชำนาญของช่างทองสมัยนั้น
  
ตราดินเผารูปสัญลักษณ์ทางศาสนาประกอบด้วยอักษรจารึก ศิลปะทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14 หรือราว 1,200-1,300 ปีมาแล้ว ลักษณะตราดินเผาทรงกลมแบ่งเป็น 2 ส่วน ด้านบนเป็นภาพวัว ตรีศูลครุฑ (หรือหงส์)โดยเรียงจากซ้ายไปขวา ด้านล่างเป็นตัวอักษร 1 แถว เป็นอินเดียแบบปัลลวะภาษาสันสกฤต หมายถึงเทพตรีมูรติ คือพระศิวะ หรือพระอิศวร พระพรหม พระวิษณุ หรือพระนารายณ์ โดยภาพสัตว์และสัญลักษณ์ด้านบนอาจหมายถึงพาหนะและศาสตราวุธของพระศิวะและพระวิษณุ
  
ตราดินเผารูปสิงห์ ศิลปะทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-14 หรือราว 1,200-1,400 ปีมาแล้ว ลักษณะแผ่นดินเผาทรงกลม ด้านหน้าตรงกลางทำเป็นรูปสิงห์ยืนหันด้านข้างชันขาหน้าขึ้นตั้งตรง ส่วนขาหลังทั้งคู่งอเล็กน้อย ภาพของสิงห์ลักษณะดังกล่าวคล้ายกับสิงห์ที่ปรากฏบนพุทธบัลลังก์สมัยอรราวดีของอินเดียประมาณพุทธศตวรรษที่ 6 – 8
  
เหรียญกษาปณ์โรมัน ลักษณะด้านหน้ามีรูปพระพักตร์ด้านข้างของจักรพรรดิซีซ่าร์วิคโตรินุส สวมมงกุฎยอดแหลมเป็นแฉกมีตัวอักษรล้อมรอบอยู่ริมขอบเหรียญ IMP C VICTORINUS PF AUG ซึ่งเป็นคำย่อของ Emperor Caesar Victorinus Felix Augusteแปลว่าจักรพรรดิซีซ่าร์วิคโตรินุส ศรัทธา ความสุข เป็นสง่า ส่วนด้านหลังของเหรียญ เป็นรูปเทพอาธีนา สำหรับจักรพรรดิวิคโตรินุสนั้น เป็นกษัตริย์ของอาณาจักรโรมันครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 812-814
  
เหรียญเงินจารึก “ศรีทวารวดี ศวรปุณย”ศิลปะทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14 หรือราว 1,200-1,300 ปีมาแล้ว ลักษณะเหรียญโลหะ(เงิน) ทรงกลมด้านหนึ่งมีจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤตสองบรรทัด อ่านได้ความว่า “ศรีทวารวติ ศวรปุณย” ซึ่งแปลว่า “การบุณย์แห่งพระเจ้าศรีทวารวดี” ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นลวดลายรูปแม่โคกับลูกโคในลักษณะหันด้านข้าง ซึ่งภาพของแม่โคนั้นถือเป็นสัญญาลักษณ์แห่งพลังอำนาจด้านการผลิตของธรรมชาติที่อาจจะมีความสัมพันธ์กับคติของการบูชาคชลักษณมี
(เทพีแห่งโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์)

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง

เรือนลาวโซ่ง
   พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทองได้จำลองเรือนลาวโซ่งจัดแสดงไว้ภายใน เรือนลาวโซ่งถือเป็นรูปแบบบ้านอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะชาวไทยทรงดำ หรือลาวโซ่ง ชาติพันธุ์สำคัญชาติพันธุ์หนึ่งที่อาศัยอยู่ในอำเภออู่ทอง
ไทยทรงดำ หรือ ลาวโซ่ง เป็นกลุ่มคนเชื้อสายไท มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศลาวและเวียดนาม ในสมัยธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น กองทัพไทยได้ยกไปนครเวียงจันทร์และเมืองต่างๆในอาณาจักรล้านช้าง(ประเทศลาว)ได้กวาดตอนผู้คนครอบครัวชาวลาวต่างๆมาจำนวนมาก รวมทั้งชาวลาวโซ่งมายังอาณาจักรสยาม(ประเทศไทย) ชาวลาวโซ่งที่เข้ามาในครั้งนั้นได้ตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ในเขตจังหวัดเพชรบุรี ต่อมาได้ย้ายถิ่นฐานที่อยู่ไปทำมาหากินในจังหวัดอื่นๆ รวมทั้งที่จังหวัดสุพรรณบุรีด้วย ในปัจจุบันชุมชนชาวไทยทรงดำในจังหวัดสุพรรณบุรีอาศัยอยู่ในเขตอำเภออู่ทอง อำเภอเมือง อำเภอสองพี่น้อง และอำเภอบางปลาม้า
  
ชาวไทยทรงดำมีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเองพูดกันในกลุ่มเชื้อสายเดียวกัน มีเอกลักษณ์ทางการแต่งกายที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ คือ เครื่องแต่งกายสีดำที่ย้อมครามจนเข้มเป็นสีน้ำเงินดำ
ชาวไทยทรงดำมีความเชื่อ การนับถือผี สิ่งที่เหนือธรรมชาติ และวิญญาณบรรพบุรุษ มีการประกอบพิธีที่เป็นแบบแผนมาจนปัจจุบัน เช่น พิธีเสนเฮือน หรือการไหว้ผีเรือน พิธีขึ้นบ้านใหม่ พิธีแต่งงาน และพิธีศพ ที่มีความคล้ายคลึงกับพิธีของคนจีนในบางประการ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง

เครื่องประดับจี้ทองคำ ผลิตขึ้นโดยมีต้นแบบจากโบราณวัตถุสมัยทวารวดีที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-14 หรือประมาณ 1,200-1,400 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นโบราณวัตถุที่ทรงคุณค่าทั้งด่านประวัติศาสตร์ และศิลปะ ผลิตขึ้นโดยใช้โลหะมงคล “นวโลหะ” เคลือบทองไมครอนด้วยมาตรฐานงานจิวเวอรี่ จำนวนจำกัดเพียง 300 ชิ้น ราคาชิ้นละ 1,500 บาท ทุกชิ้นมีหมายเลขกำกับ ผลิตภายใต้การควบคุมคุณภาพโดยกรมศิลปากร
  
ต่างหูทองคำตุ้มหู
ผลิตขึ้นตามรูปแบบของตุ้มหูทองคำ สมัยทวารวดีมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-14 หรือ ประมาณ 1,200-1,400 ปีที่ผ่านมาพบภายในเมืองโบราณอู่ทอง ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง ถือเป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่มีคุณค่าอย่างยิ่งทางด้านประวัติศาสตร์และศิลปกรรม ผลิตขึ้นใหม่โดยใช้โลหะสำริดซึ่งเป็นโลหะผสมเก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ค้นพบ เคลือบทองไมรครอนอย่างดีเป็นงานสืบสานภูมิปัญญาของบรรพชนไทยผลิตจำนวนจำกัดเพียง 500 คู่ ราคาชิ้นละ 1,000 บาท ภายใต้การควบคุมของกรมศิลปากร

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง

Uthongmuseum

การติดต่อ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ถนนมาลัยแมน ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี 72160
โทรศัพท์/โทรสาร
035-551021

การเดินทาง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ตั้งอยู่ใกล้ที่ว่าการอำเภออู่ทอง บนถนนมาลัยแมน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ห่างจากจังหวัดสุพรรณบุรี ประมาณ 30 กิโลเมตร
แผนที่เส้นทาง สุพรรณ - อ.อู่ทอง

เวลาเปิด-ปิด
วันเวลาทำการ : วันพุธ-วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
เวลา 9.00 น.-16.00 น.
ปิด : วันจันทร์-วันอังคาร
ค่าเข้าชม

ค่าธรรมเนียมเข้าชมชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาท
หมายเหตุ ยกเว้นค่าธรรมเนียม นักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ พระภิกษุ สามเณร และนักบวชใน ศาสนา ต่างๆและผู้สูงอายุ เกิน 60 ปี

ค่าพิกัด GPS 14.372751, 99.891264

แผนที่ เมืองโบราณอู่ทอง

 

เสด็จทรงงานเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

เสด็จทรงงานเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

 

สถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดสุพรรณบุรี

ร้านอาหาร ของกิน จังหวัดสุพรรณบุรี

รีสอร์ท โรงแรม ที่พัก จังหวัดสุพรรณบุรี

home suphanbiz

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี

สถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดสุพรรณบุรี ร้านอาหาร ของกิน จังหวัดสุพรรณบุรี รีสอร์ท โรงแรม ที่พัก จังหวัดสุพรรณบุรีhome suphanbiz

Last modified: 14/07/65

จังหวัดสุพรรณบุรี Suphanburi | สถานที่ท่องเที่ยว | ที่พัก-รีสอร์ท | ร้านอาหาร แผนที่ | การเดินทาง | Other